สาระน่ารู้เกี่ยวกับคดี (Knowledge)
Notarial Services Attorney
หนังสือ สัญญา (Contract)
ทรัพย์สินทางปัญญา (IP)
บัญชีและภาษีอากร (Accounting)
Login Form
วัน & เวลา (Date & Time Zone)
|
คดีภาษีอากร ได้แก่ คดีที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับ
- คดีอุทธรณ์คําวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทําขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร
- คดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอํานาจศาลภาษีอากร (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7)
โดยในคดีภาษีอากร จะมีทั้งคดีที่ต้องมีการอุทธรณ์
และคดีที่ไม่ต้องมีการอุทธรณ์ก่อน
กรณีที่จะต้องอุทธรณ์ก่อนนั้น
จะต้องตรวจสอบการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงาน
เพื่อดูความถูกต้องของกรรมวิธีการประเมินภาษีอากร เงินเพิ่ม
และเบี้ยปรับ
รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะอุทธรณ์ได้
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
หากผู้อุทธรณ์ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัย
ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล และยื่นฟ้องต่อศาลภายในอายุความ
แต่จะต้องเป็นกรณีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ด้วย
ตัวอย่างคำพิพากษา กรณีอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8298/2557
ป.พ.พ. มาตรา 499
ป.รัษฎากร มาตรา 30, 91/2
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
ข้อ 2 (14)
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน
ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง
การประเมินปัญหาข้อเท็จจริงใดที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหยิบยกขึ้นอุทธรณ์
ย่อมเป็นอันยุติโจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลไม่ได้
เมื่อโจทก์ไม่ได้ยกปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมิน
กำหนดราคาขายทองรูปพรรณทั้งหมดเป็นรายได้ของโจทก์
เป็นการไม่ชอบขึ้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในส่วนนี้ได้
แม้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ
และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะอุทธรณ์ประเด็นนี้ต่อไป
การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจะต้องอาศัยพยานหลักฐาน
ที่ปรากฏจากการไต่สวน แม้โจทก์ไม่มีบัญชีเอกสารหรือหลักฐาน
มาแสดงแต่ถ้อยคำของโจทก์เองถือเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง
ที่ปรากฏจากการไต่สวนซึ่งเจ้าพนักงานประเมินนำมาใช้
ในการตรวจสอบได้
การที่เจ้าพนักงานจะพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏ
จากการไต่สวนอย่างไรเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ
แม้เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีโจทก์
โดยอาศัยเพียงแต่ข้อมูลจากที่โจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้
ก็ไม่มีผลทำให้การไต่สวนเสียไป
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)
เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ
มูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4)แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2 (14)
กำหนดว่า “มูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับ
ราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืน
ในวันที่ขายทองรูปพรรณ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียน
ที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณ ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่า
ตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า” กรณีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
ฉบับดังกล่าว เป็นการรับซื้อและขายทองรูปพรรณแก่บุคคลทั่วไป
แต่สำหรับการขายฝากทองรูปพรรณนั้น คู่สัญญาย่อมกำหนดสินไถ่
โดยเรียกประโยชน์ตอบแทนรวมไปกับราคาขายฝากที่แท้จริงได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 499
สินไถ่จึงขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่กรณีแต่ละราย
หากผู้ขายไม่ต้องการรับภาระจ่ายประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้รับซื้อฝาก
เกินความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน ก็ตกลงสินไถ่ต่ำกว่าราคาขายทองรูปพรรณได้
สินไถ่จึงไม่ต้องเท่ากับราคาขายทองรูปพรรณทั่วไป
ส่วนราคาที่โจทก์รับซื้อฝากก็ไม่ต้องเท่ากับราคาทองรูปพรรณ
ที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้ออีกเช่นกัน
กรณีจึงไม่อาจนำประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) มาใช้บังคับแก่การขายฝากได้
แม้โจทก์จะมิได้รับฝากเงินเช่นธนาคาร แต่ประกอบกิจการรับซื้อลดเช็ค
เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์หลายครั้งหลายช่วงเวลา
ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
ในการรับซื้อตั๋วเงินเป็นปกติ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามมาตรา 91/2 แห่ง ป.รัษฎากร
อุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลภาษีอากรกลางในการวินิจฉัย
เรื่องเหตุอันควรลดเบี้ยปรับเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
เมื่อภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ละเดือนภาษีพิพาท มีทุนทรัพย์ที่พิพาท
แต่ละเดือนภาษีไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้าม
มิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร
พ.ศ.2528 มาตรา 25
คดีทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีที่แยกพิจารณาเป็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาได้ดังนี้
คดีแพ่ง
- คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์
สิทธิบัตรคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
- คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ
หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ
การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271-275
ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการค้าฐานขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด
คุณภาพ ฯลฯ ของสินค้า ความผิดเกี่ยวกับการใช้รูปรอยประดิษฐ์ของผู้อื่น
ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้า จำหน่าย
หรือเสนอจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียน เป็นต้น
- คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต (แอลซี)
- คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ
- คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ
- คดีแพ่งที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์
ชื่อทางการค้า ฯ
- คดีแพ่งที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท มาตรา 7 (3)-(10)
ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
- คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญา
คดีอาญา
- คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร
- คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271-275
- คดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ฯ
- คดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญา
การดำเนินคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญานั้น
จะดำเนินคดีให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
จึงมีการกำหนดให้มีการพิจารณาคดีติดต่อกันโดยไม่เลื่อนคดี เว้นแต่
มีเหตุจำเป็น นอกจากนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศกลาง
โดยอนุมัติประธานศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับ
การดำเนินกระบวนพิจารณา และการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลได้
จึงทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัด
อันเป็นลักษณะพิเศษซึ่งแตกต่างจากศาลอื่น
คดีปกครอง แบ่งได้ดังนี้
-
คดีที่มีข้อพิพาทเนื่องจากการกระทำทางปกครองของรัฐฝ่ายเดียว
เช่น การออกกฎ การออกคำสั่งทางปกครอง การออกพระราชกำหนด
หรือการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน
เช่น การก่อสร้างสะพานลอย การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น
-
คดีที่มีข้อพิพาทเนื่องจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่
หรือปฏิบัติล่าช้าของเจ้าหน้าที่รัฐ
-
คดีที่มีข้อพิพาทเนื่องจากการกระทำละเมิดทางปกครอง
หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่
เช่น การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
-
คดีที่มีข้อพิพาทเนื่องจากสัญญาทางปกครอง
เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาบริการสาธารณะ สัญญาใช้ทุน เป็นต้น
ซึ่งการพิจารณาคดีดังกล่าว จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลปกครอง
เป็นการดำเนินคดีแบบไต่สวนโดยตุลาการศาลปกครอง
คำฟ้องคดีปกครอง สามารถยื่นได้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ
ยื่นฟ้องทางไปรษณีย์ได้เช่นกัน โดยให้ถือวันที่ส่งเป็นวันยื่นคำฟ้อง
-
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
เช่น คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว
ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลล้มละลาย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
คดีเกี่ยวกับวินัยทหาร คดีเกี่ยวด้วยระเบียบข้า่ราชการฝ่ายตุลาการ
คดีแรงงานได้แก่ คดีที่มีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
เกี่ยวด้วยการจ้างแรงงาน และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานต่างๆ เช่น
- กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
- กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
- กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
- กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เป็นต้น
รวมไปถึงกรณีการละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย
ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี จะต้องดำเนินคดีที่ศาลแรงงาน
โดยการพิจารณาจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
โจทก์และจำเลยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น
และศาลจะพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้คู่ความสามารถตกลงกันได้
ตัวอย่างคดีแรงงาน เช่น
- คดีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยกรณีออกจากงาน
- คดีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
- คดีที่ลูกจ้างฟ้องเรียกเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- คดีที่นายจ้างฟ้องลูกจ้างว่ากระทำความผิดระหว่างปฏิบัติงาน
- คดีที่นายจ้างฟ้องลูกจ้างว่ากระทำผิดวินัย
- คดีที่นายจ้างฟ้องลูกจ้างว่ากระทำละเมิด
- คดีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน
- คดีที่นายจ้างฟ้องลูกจ้างว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญา
เช่น ลูกจ้างยักยอกทรัพย์ ลูกจ้างฉ้อโกงทรัพย์ เป็นต้น
- คดีที่นายจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้าง
กรณีลูกจ้างไปทำงานให้กับบริษัทคู่แข่ง หรือบริษัทคู่ค้าของนายจ้าง
หรือ ลูกจ้างไปเปิดกิจการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง เป็นต้น
คดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลายนั้น
มุ่งให้ความเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ คือ
ในส่วนของเจ้าหนี้ก็เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเต็มจำนวน
ส่วนของลูกหนี้ก็เพื่อให้ลูกหนี้ได้พ้นจากการล้มละลายได้เร็วขึ้น
โดยคดีล้มละลายจะมีได้ทั้งในส่วนของคดีแพ่งและคดีอาญา
- หลักเกณฑ์ในการถูกฟ้องล้มละลาย มีดังนี้
1.ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว
และเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนรวมกัน
ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท
2.ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว
หรือหลายคนรวมกันไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท
- หลักเกณฑ์การถูกปลดจากล้มละลาย มีดังนี้
1.ปลดล้มละลายโดยคำสั่งศาล
2.ปลดล้มละลายโดยผลของกฎหมาย คือ บุคคลธรรมดา
ที่ถูกศาลพิพากษาว่าล้มละลายว่าล้มละลายมาแล้ว
พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี
เว้นแต่
1.บุคคลนั้นเคยถูกศาลพิพากษาว่าล้มละลายมาก่อน
และยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่ศาลได้พิพากษาครั้งก่อน
ให้ขยายระยะเวลาเป็น 5 ปี
2.บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี
3.บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลาย เนื่องจากการกระทำผิด
อันมีลักษณะเป็นการกุู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ให้ขยายระยะเวลาล้มละลายเป็น 10 ปี
หรือ เพราะเหตุการหยุดนับระยะเวลา
ซึ่งเกิดจากลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในการจัดการทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันควร
โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะยื่นคำร้องต่อศาล
ขอให้หยุดนับระยะเวลาได้ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาได้
แต่ไม่เกิน 2 ปี รวมเป็นระยะเวลาในการล้มละลายกรณีนี้ 5 ปี
จึงจะปลดล้มละลายโดยผลของกฎหมาย
กรณีนิติบุคคล จะมีกระบวนการของการฟื้นฟูกิจการเข้ามาช่วย
เพื่อให้ปลดล้มละลายได้เร็วขึ้น
การพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลายนั้น ต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
จึงได้แยกพิจารณาในศาลล้มละลายโดยเฉพาะ